messager
แผนที่องค์การบริหารส่วนตำบลสมัย

ข้อมูลทั่วไปของตำบล
ประวัติความเป็นมาของตำบลสมัย ด้วยที่ พ่ออาจารย์บุญตัน สอนอินต๊ะ อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสมัย ท่านได้สืบถามคนเฒ่าคนแก่ในตำบลสมัย ตลอดจนผู้รู้ในตำบลสมัย ถึงความเป็นมาของตำบลสมัยนั้นว่าความเป็นมาอย่างไร ซึ่งพ่ออาจารย์บุญตัน สอนอินต๊ะ ได้มาปรึกษาท่านพระครูวิจารณ์ภัทรกิจ เจ้าคณะตำบลสมัย/เจ้าอาวาสวัดบ้านจัวว่าสมควรที่จะพิมพ์และบันทึกไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้ทราบโดยสังเขปดังนี้ พ่อหลวงปุ๊ด ทินวัง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลสมัย อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง เล่าว่าแต่เดิมราษฎรบ้านสมัยมีคนเล่าว่าสืบเชื้อสายมาจาก ลัวะ พากันหนีอพยพลงมาตั้งอยู่ฝั่งสบห้วยสมัย ห้วยแม่มอด นานมาแล้วมีอาชีพทำไร่ ทำนา ปลูกพืชไร่ ปลูกม่อน เลี้ยงไหม ปั่นเส้นด้าย ชักใยไหม ทำทอเป็นผืนแผ่นผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า นุ่งผ้า อยู่กันมาช้านาน ตั้งชื่อกันขึ้นมาว่าเป็นบ้านสอยไหม ราษฎรชาวบ้านรวมกันสร้างวัดขึ้นชื่อว่าวัดต๊อบข๊อบ อาคารสำนักวัดตั้งด้วยไม้ หลังคามุงด้วยหญ้าคา ฝาไม้ไผ่ ใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสงฆ์สามเณรศึกษาเล่าเรียนภาษาล้านนา (เรียกกันว่าภาษาพื้นเมือง) อยู่นานเข้าพระภิกษุสามเณรได้ลาสิกขา ออกเป็นชาวบ้านเรียกกันว่าเป็นหน้อย หนาน (เป็นเซียง-เป็นทิด) พระยาเจ้าเมืองได้ส่งเสนาบดีออกมาทำการสำรวจตรวจสอบจำนวนผู้คนได้นำเอาชื่อหนานคำแสนตั้งเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน แต่งตั้งชื่อว่าต๊าวคำแสน ให้มีการปกครองรักษาความสงบสุขของราษฎรให้ทำมาเลี้ยงชีพด้วยความผาสุก หมดสมัยต๊าวคำแสนเจ้าเมืองลำปางได้แต่งตั้งต๊าวคนใหม่ขึ้นชื่อว่า ต๊าวเสมอใจ ส่วนราษฎรที่ย้ายไปตั้งหมู่บ้านอยู่บ้านน้ำหลง เจ้าเมืองลำปางได้ตั้งหน้อยแสนอินต๊ะ เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมามีการแต่งตั้ง ต๊าวคำแดง เป็นผู้ปกครองดูแลบ้านสมัยหมู่ที่ 1 แต่งตั้ง หน้อยแสน อินต๊ะ เป็นผู้ปกครองลูกบ้านน้ำหลง หมู่ที่ 2 แต่งตั้งต๊าวคำน้อย เป็นผู้ปกครองราษฎรบ้านจัว หมู่ที่ 3 แต่งตั้งหนานหนิ้ว เป็นผู้ช่วยไปปกครองราษฎรบ้านอุมลอง นำพาลูกบ้านประกอบการทำมาเลี้ยงครอบครัวสืบต่อมา ทางวัดสมัยคิดตั้งสำนักขึ้นที่สันทางทิศเหนือหมู่บ้านโดยออกชักชวนราษฎร ผู้มีใจบุญ เสียสละแรงงาน ตัดไม้เสา ไม้เครื่องบน ออกไปเก็บหญ้าคา สร้างเป็นศาลาสร้างที่พัก (นอน) ได้ไปนิมนต์พระสงฆ์มาประจำ สอนให้เรียนภาษาล้านนา ภาษาพื้นเมืองเหนือ เริ่มต้น กะ ขะ ก๊ะ คะ งะ ถึง สะหะระละอํ เจ้าอาวาสวัดออกไปติดต่อขอยืมหนังสือฉบับต้นนำเอามาเขียนคัด ลงใส่ใบลาน หรือกระดาษสา เป็นคำสวดมนต์เขียนเป็นธรรมเทศน์นิยามคำสอนอบรมชาวบ้านให้เป็นผู้มีความรู้ นำวิชาความรู้ที่ได้รับสนองจากพระอาจารย์ออกไปเผยแผ่ตามคำสอนได้เขียนไว้ในพระธรรมคำสอนว่า ผู้ใด พระ ภิกษุ สามเณร ผู้ใดได้ทำการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์จนมีความรู้อ่าน เทศน์ หนังสือใบลาน ให้ผู้อื่นรับฟัง จนมีความรู้ความเข้าใจจะเป็นผู้มีอานิสงส์นาบุญสูง ราษฎรชาวบ้านต่างก็นำลูกหลานเข้าไปมอบตัวเป็นศิษย์กับพระภิกษุสามเณรที่อยู่ตามวัดต่าง ๆ ตั้งใจฝึกสอนลูกศิษย์จนมีความรู้ภาษาพื้นเมืองขยายออกไปบ้านก็ลาสิกขา ออกไปเป็นคฤหัสห์ ได้ชื่อว่าเป็น หน้อย เป็นหนาน (เซียง เป็นทิด) พร้อมกับได้ร่ำเรียนวิชาอาคมคงกระพันต่อศาสตราอาวุธ สมัยนั้น เวลาต่อมาเกิดภาวะฟ้าฝนไม่ตกตามฤดูกาลติดต่อกันเป็นเวลา 3-4 ปี ราษฎรอัตคัดขาดแคลนอาหาร ด้วยความจำเป็นชาวบ้านพากันเดินออกจากบ้านเข้าป่าไปหาขุดหัวเผือก มัน กลอย มาต้มแกง กินกันจนมีคำเล่าลือกันว่าผู้ใดบ้านหลังมีหม้อข้าว (แช่ข้าว) หัวค่ำต้องเอาไปซ่อนไว้ในหัวนอน มิฉะนั้นถูกขโมยแอบลักเอาหม้อข้าวแช่ไว้ตอนเผลอนอนหลับไป เสียงว่าขโมยที่จะไปแอบลักหม้อข้าวแช่ ชอบเจ้าของนอนหลับกรนเสียงดัง ๆ เช่นนี้ลักเอาง่ายมาก และปลอดภัยด้วยเพราะเจ้าของมันหลับกรน กว่าจะรู้นอนหลับตื่นขึ้นมา หม้อข้าวที่แช่ไว้นั้นมีอันตรายขโมยลักเอาไปเสียแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง เป็นปี พ.ศ. 2456 มีหน้อยเป็งเป็นหัวหน้า ไปชักชวนหน้อยขี้ลัก หน้อยอ้ายโอ๋ง และหนานคำเวมาพร้อมหารือว่า ใช้ผ้านุ่งสีดำปึก เย็บไล่สำหรับใส่ข้าวเปลือกคนละถุงติดตัวไปขอข้าวที่บ้านต๊าวคำ ตรงบ้านสันป่าป่าง สมัย หนานคำเวถามว่าขอไม่ได้จะทำอย่างไร ส่วนหน้อยเป็งพูดว่าข้าจะขึ้นทางหน้าบ้านต๊าวคำ หื้อหน้อยขี้ลักขึ้นบนหลองข้าวตักเอาข้าวใส่ไต้ ส่วนหน้อยอ้ายโอ๋ง ถือมีดดาบเฝ้าดูต้นทาง (ส่วนหนานคำเว) เป็นขี้แขะ บอกคำปฏิเสธไม่ยอมร่วมทีมด้วย ทั้ง 3 คนออกเดินทางจากบ้าวจัว ตรงไปที่บ้านต๊าวคำแดง ปรากฏว่าหน้อยเป็งจะพูดอ้อนวอนปานใด ต๊าวคำแดงก็ไม่ยอมส่วนหน้อยขี้ลักขึ้นหลองข้าวตักเอาข้าวใส่ไต้ ส่วนหน้อยขันแอบฟังอยู่ข้างฝา จึงสะพายมีดดาบ 2 เล่ม ลงทางหลังบ้านคอดใต้ถุนบ้านเพื่อไปเฝ้าดูข้าว ได้ยินเสียงมีผู้คนตักข้าวใส่ไต้หน้อยขี้ลักได้ยินเสียงร้องเรียกให้ลงจากหลองข้าวพร้อมด้วยแบกไต้ข้าว มือขวาถือมีดดาบไว้ป้องกันตัวลงจากหลองข้าวแลเห็นหน้อยขันยืนจ้องดูอยู่ จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้นใช้มีดดาบฟาดฟันกัน มีดดาบของหน้อยขี้ลักฟันไปถูกมีดดาบของหน้อยขันตรงด้ามมีดดาบของหน้อยขี้ลักหักคาด้ามดาบของหน้อยขัน หน้อยขี้ลักเสียท่าถูกหน้อยขันฟันตรงท้องเป็นแผลเหวอะหวะ ไส้ของหน้อยขี้ลักไหลออกมาหน้อยขี้ลักส่งเสียงร้องไห้ หน้อยเป็งและหน้อยอ้ายโอ๋งได้มาช่วยเอาลำไส้ของหน้อยขี้ลักยัดใส่เข้าไปในท้องแล้วเอาผ้าขาวมาพันพากันอุ้มเอาหน้อยขี้ลัก หนีออกไปทางทิศตะวันตกข้ามลำห้วยสมัยไปถึงต้นไม้ใหญ่ หน้อยขี้ลักไม่ไหวสิ้นใจตาย หน้อยเป็งและหน้อยอ้ายโอ๋งจึงพากันหลบหนีเข้าป่าเพื่อไปซ่อนตัวหนีความผิด เหตุการณ์นี้ข่าวไปถึงอำเภอ อำเภอส่งข่าวไปถึงพระยาเจ้าเมือง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามนำเอาตัวคนร้ายไปดำเนินคดี ต๊าวแสน อินต๊ะได้ติดตามไปเกลี้ยกล่อมหน้อยเป็งและหน้อยอ้ายโอ๋ง ส่งถึงเจ้าเมืองลำปางเพื่อดำเนินคดี พอเจ้าบุญทวงค์วงมานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ได้บัญชาแต่งตั้งให้ต๊าวแสน อินต๊ะ เป็นขุนมือปราบโจรผู้ร้ายแต่ ต๊าวแสน อินต๊ะ ให้แต่งตั้งขุนสมัยธนกิจ ทินวัง ตำบลสมัยได้รับยกฐานะสูงเป็นขุนสมัยคนที่ 1 คนที่ 2 แต่งตั้งให้พ่อขุนสมัยนิคมบำรุง ได้ทำหน้าที่ในการปกครองตำบลสมัยและท่านได้ทำความดีความชอบตลอดความสามัคคีปรองดองและความสามัคคีในตำบลสมัยให้มีความสุข ความเจริญ เสมอมาตราบเท่าในปัจจุบันนี้ อาณาเขต พื้นที่ความรับผิดชอบที่อยู่ในเขต องค์การบริหารส่วนตำบลสมัย มีทั้งหมด 148.56 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 92,484 ไร่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสบปราบ ไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลและอำเภอใกล้เคียง ดังนี้ ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับ ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ และต.สันดอนแก้ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับ ต.ป่าสัก อ.วังชิ้น จ.แพร่ และต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับ ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ ทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับ ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง